รศ.รท.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
ไข้เลือดอออกจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ซึ่งมี 4 ชนิด คือ เด็งกี่-1 ถึง 4 โดยมียุงลายซึ่งมักหากินในเวลากลางวันเป็นพาหนะนำโรค พบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 50,000 -100,000 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกร่วมด้วยประมาณร้อยละ 5 และเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณปีละ 100-400 ราย ในบางปีที่มีการระบาดใหญ่พบผู้ป่วยกว่าแสนรายต่อปี แต่เดิมผู้ป่วยไข้เลือดออกมักพบเด็กเล็ก แต่ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าสังเกตว่า อายุของผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น และในปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่
ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกไปยังประเทศต่าง ๆทั่วโลก อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจากสังคมมาเป็นชุมชนชาวเมือง สภาพชุมชนแออัดที่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น การควบคุมปะชากรยุงและการควบคุมโรคที่ขาดประสิทธิภาพและการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว
อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกสิ่งที่ควรรู้
ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการไข้สูงลอย หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเหมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และมีภาวะเลือดออก อาจเป็นจุดเลือดออกที่ผิวหนังซึ่งเกิดขึ้นเองหรือจากการรัดแขนที่เรียกว่าการทดสอบทูนิเกต์หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
อาการของผู้ป่วยมี 3 ระยะคือ
1. ระยะไข้สูง เป็นระยะเวลา 3-7 วัน
2. ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ลดลง หากผู้ป่วยมีการรั่วของพลาสมาอาจเกิดภาวะช็อก โดยผู้ป่วยจะอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบาลง มีความดันโลหิตต่ำ
3. ระยะพักฟื้น ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปดีขึ้น อยากรับประทานอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้าลง และอาจมีผื่นแดงขึ้นที่ขา
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกอาศัยอาการของผู้ป่วย การทดสอบทูนิเกต์ และการตรวจนับเม็ดเลือด โดยจะตรวจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวและจำนวนเกร็ดเลือดลดลง กรณีที่มีการรั่วของพลาสมาจะมีความเข็มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นและตรวจพบน้ำในเยื่อหุ้มช่องปอด กรณีที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารจำนวนมาก จะพบภาวะซีดได้ การตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออกจริงมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางราย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ไข้เลือดออก…รักษาอย่างไร
โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไข้เลือดออกไว้รักาในโรงพยาบาลทุกราย การเช็ดตัวลดไข้ รับประทานยาลดไข้พราเซตามอล และดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรติดตามอาการของผู้ป่วย ตรวจวัดจำนวนเกร็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด ผู้ป่วยที่ขาดน้ำอย่างมาก มีภาวะช็อก หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำ ซึ่งควรให้ความสำคัญในการปรับปริมาณให้สอดคล้องสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการรั่วของพลาสมาหรือมีภาวะช็อก
ไข้เลือดออก..กับวิธีการป้องกัน
การป้องกันไข้เลือดออกทำได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด ควบคุมยุงลายซึ่งทำได้โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำ ถ้าพบลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำให้กำจัดโดยทรายอะเบตลงไป และที่สำคัญคือ การทิ้งหรือทำลายภาชนะขังน้ำที่ไม่ได้ใช้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกน่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก คาดว่าจะมีการนำร่องมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้
Cover photo credit : Pixabay License / Rilsonav